
สรุปให้เข้าใจ ยา PrEP และ PEP คืออะไร? ยาต้านไวรัส HIV
และโรคเอดส์ ลดเสี่ยงติดเชื้อได้แค่ไหน ? ราคาเท่าไหร่?
ยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส HIV สิ่งสำคัญของยาต้านไวรัส HIV คือ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ทั้งก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในยุคปัจจุบันก็มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการสวมถุงยางอนามัย และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) นอกจากการสวมถุงอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ปัจจุบันยังมียาต้านไวรัสที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ทั้งก่อนและหลังสัมผัสเชื้อ ได้แก่ ยาเพร็พ (PrEP) และยาเป๊ป (PEP) ลองไปรู้จักประสิทธิภาพของยาทั้ง 2 ชนิดกันค่ะ
ยา PrEP คืออะไร?
PrEP ป้องกันก่อนเสี่ยง
เพร็พ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการป้องกันการติดชื้อเอชไอวี (HIV) ในผู้ที่มีผลเลือดลบ เริ่มใช้เตรียมไว้ก่อนการสัมผัสโรค หรือก่อนมีโอกาสสัมผัสเชื้อ เพร็พ (PrEP) ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- กินยา PrEP นี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง
- ตรวจเลือดเพื่อติดตามประสิทธิภาพของยาทุก ๆ 3 เดือน
- ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เช่น หนองใน หนองในเทียม หรือชิฟิลิส
- เพร็พอาจจะเหมาะกับคุณ หากคุณไม่สามารถใช้ถุงยางอนามัยได้ทุกครั้ง หรือเคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือใช้ยาเมื่อมีเพศสัมพันธ์
ยา PEP คืออะไร?
PEP เสี่ยงแบบฉุกเฉิน
เป๊ป PEP (Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่มีผลเลือดลบที่เพิ่งสัมผัสเชื้อ HIV มาไม่เกิน 72 ชั่วโมง เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า การรับประทาน PEP หลัง 72 ชั่วโมง จะให้ผลได้น้อย หรือไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เลย ทั้งนี้การรับประทาน PEP ยิ่งเร็วยิ่งให้ผลดี (Every hour counts) และต้องรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 28 วันติดต่อกัน และเนื่องจาก PEP ใช้สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV ในการป้องกันการติดเชื้อหลังมีการเสี่ยงเท่านั้น ก่อนเริ่มรับประทานยานี้จึงต้องตรวจเลือดหาเชื้อ HIV ก่อนทุกครั้ง
PrEP กับ PEP แตกต่างกันอย่างไร?
PrEP และ PEP นั้นเป็นยาต้านไวรัสในกลุ่ม Antiretroviral Drugs (ARV) เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันได้การรับรองให้นำมารักษาเชื้อเอชไอวีได้ มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อที่แตกต่างกัน รวมถึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนที่มีผลเลือดลบหรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV สรุปคือ
- PrEP คือ ยาป้องกันก่อนการเสี่ยงในการได้รับหรือสัมผัสเชื้อ HIV
- PEP คือ ยาฉุกเฉินที่ต้องทานหลังการเสี่ยงการได้รับหรือสัมผัสเชื้อ HIV ภายในเวลา 72 ชั่วโมง รับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน
PrEP และ PEP เหมาะกับใคร?
PrEP
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี (HIV)
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
- ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่ใช้สารเสพย์ติดชนิดฉีด
- ผู้ที่รับยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับยา PrEP จะต้องมีหลักฐานจากการตรวจเลือดว่าไม่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ณ เวลาที่ได้รับ PrEP รวมทั้งไม่มีประวัติ และอาการที่บ่งชี้ถึงการติดเชื้อเอชไอวีเฉียบพลัน
PEP
หากผู้ที่เสี่ยงเป็นผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อหรือไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ควรรีบติดต่อแพทย์ทันทีภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยง เช่น
- อาจได้รับเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางอนามัยแตกหรือรั่ว
- มีการใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น
- กลุ่มที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ทั้งเพศชายและเพศหญิง หรือ
กลุ่มชายรักชาย ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวี (HIV) จากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก รวมถึงผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
หากสงสัยว่าสัมผัสเชื้อ ไม่แน่ใจในความเสี่ยง ควรรีบปรึกษาจากแพทย์ และเข้ารับการตรวจเลือดทันที
จะเริ่มกินยา PrEP และ PEP ต้องทำอย่างไร?
PrEP
งดมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ก่อนมารับเพร็พ (PrEP) ท่านจะได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี การทำงานของตับและไต และหลังจากที่ได้รับยาเพร็พ (PrEP) ครั้งแรกจะนัดตรวจเลือด 1 เดือน หลังจากนั้นนัดตรวจเลือดทุก 3 เดือน หากต้องการหยุดยา ผู้มารับบริการต้องมาตรวจเลือดก่อนหยุดยาเพร็พ (PrEP) ทุกครั้ง
PEP
ก่อนที่จะรับยาเป็ป (PEP) แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป็ป (PEP) หรือไม่ โดยแพทย์จะสั่งตรวจหาเชื้อเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยาเป็ป (PEP) (หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยาเป็ป (PEP) ได้) หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
PrEP และ PEP กินอย่างไร?
- กินยา PrEP เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 เม็ด แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา ถ้าไม่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์
กินยา PEP ต้องได้รับทันที ห้ามเกิน 72 ชั่วโมง ทานวันละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 28 วัน

ยา PrEP ราคาเท่าไหร่?
ราคายาเพร็พ PrEP เริ่มที่ชุดละ 1,000 – 3,200 บาท (1 เดือน 30 เม็ด)
ยา PEP ราคาเท่าไหร่?
ราคายาเป๊ป PEP เริ่มที่ชุดละ 2,500 – 12,000 บาท
ผลข้างเคียงของยา PrEP และ PEP
- PrEP มีอาการคลื่นไส้และน้ำหนักลดหลังได้รับยาในระยะแรก ผลข้างเคียงระยะยาวพบได้น้อย ได้แก่ ผลต่อการทำงานต่อไต
- PEP มีผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย ปวดหัว อิดโรย คลื่นไส้ และอาเจียน
ความแตกต่างระหว่างยา PrEP และ PEP
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง PrEP และ PEP คือช่วงเวลาในการทานยา เพราะฉะนั้นใครที่ต้องการรับยาควรเข้าปรึกษาแพทย์และทำการตรวจเลือดก่อนรับยาไปทาน เพื่อการป้องกัน HIV อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และหากรับไปแล้วก็ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ได้ค่ะ
ยา PEP และ PrEP สามารถป้องกันได้แค่การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เท่านั้น ดังนั้น ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และการใช้ยา PrEP และ PEP อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ HIV ได้ค่ะ หากสงสัยว่าสัมผัสเชื้อ หรือไม่แน่ใจในความเสี่ยง ควรรีบปรึกษาจากแพทย์ และเข้ารับการตรวจเลือดทันทีค่ะ